เครื่องตัดไฟที่ใช้ ป้องกันได้ 100% จริงหรือ?

 

เครื่องตัดไฟที่ใช้ ป้องกันได้ 100% จริงหรือ?

โดย...ธวัชชัย  บุญรอด

 

 

                เครื่องตัดไฟ หรือ เครื่องป้องกันไฟดูด-ไฟรั่ว หลายคนรู้ว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องมีติดบ้านไว้ แต่...ก็ยังมีหลายคนที่ยังไม่รู้อะไรเกี่ยวกับมันมากนัก หรือบางคนก็รู้และเข้าใจในเครื่องตัดไฟแบบผิดๆมาโดยตลอด

                ผู้เขียนเลยขอหยิบยกเรื่องเครื่องตัดไฟ มาเขียนเป็นบนความในเรื่องของเครื่องตัดไฟหรือเครื่องป้องกันไฟดูด ซึ่งเป็นที่พึ่งและเป็นทางเลือกของหลายๆท่าน

ที่ต้องการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของตนเอง เพื่อให้ท่านผู้อ่านที่ยังไม่รู้เกี่ยวกับเครื่องตัดไฟ ได้ทราบเบื้องต้นเกี่ยวกับเครื่องตัดไฟที่ใช้กันอยู่ในบ้านเรื่องทั่วไป

เพื่อให้ใช้งานได้อย่างปลอดภัย รู้จักขอบเขตการป้องกันของเครื่องตัดไฟ ที่สามารถป้องกันกรณีใดได้บ้าง และ ไม่ป้องกันในกรณีใดบ้าง

 

                ในปัจจุบัน...ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มที่ป้องกันอันตรายจากไฟดูด-ไฟรั่ว ที่วางขายกันในท้องตลาดมีให้เลือกมากมายหลายแบบ หลายยี่ห้อ หลายราคา

แต่ถ้าพูดถึงเครื่องตัดไฟรูปทรงใหญ่ๆ ที่มีลูกบิดหมุดปรับค่าความไว (Sensitive) หลายๆคนก็จะนึกออกทันทีว่าเป็นเครื่องตัดไฟแบบดั้งเดิม ที่มีชื่อคุ้นหู และอยู่คู่คนไทยมานานหลายสิบปี

                นอกจากเครื่องตัดไฟรั่วแล้ว ยังมีอุปกรณ์ป้องกันไฟดูด-ไฟรั่ว แบบอื่นๆ ที่เข้ามาในท้องตลาดเพื่อเป็นทางเลือกเพิ่มเติมให้ได้เลือกซื้อกัน

หลักๆก็จะมีอยู่ 2 ประเภท

                แบ่งตามขีดความสามารถในการป้องกัน และพิกัดการใช้งาน

                ประเภทที่ 1 RCBO (นิยมเรียกว่า "ลูกย่อยกันดูด หรือ เมนกันดูด") เป็นอุปกรณ์ที่มีความสามารถเทียบเท่าเครื่องตัดไฟแบบดั้งเดิม คือสามารถป้องกันไฟดูด-ไฟรั่ว ไฟเกิน และไฟฟ้าลัดวงจรได้  โดยส่วนใหญ่แล้ว RCBO จะถูกผลิตออกมาเพื่อใช้ติดตั้งภายในร่วมกับตู้ Consumer Unit , Load Center หรือ ติดตั้งบนรางและอุปกรณ์อื่นๆตามความเหมาะสม  มีให้เลือกทั้งแบบ ลูกย่อยกันดูด ซึ่งใช้สำหรับควบคุมในส่วนของวงจรย่อย และ เมนกันดูด ใช้สำหรับเป็นเมนเบรกเกอร์เพื่อควบคุมวงจรย่อยที่อยู่ในตู้เดียวกัน เมนกันดูดหลายยี่ห้อ มีการออกแบบให้มีค่าทนกระแสลัดวงจร (IC) ที่สูงขึ้น เพื่อสามารถใช้เป็นเมนประธานของระบบไฟได้โดยตรง


                ประเภทที่ 2 ELB / ELCB (นิยมเรียกว่า "กันดูด") เป็นเบรกเกอร์ป้องกันไฟดูด-ไฟรั่ว อีกชนิดหนึ่ง ตัวเบรกเกอร์ ELB / ELCB จะอยู่ในตระกูลเดียวกันกับ Safety Breaker มีลักษณะใกล้เคียงกันมาก แต่มีจุดที่แตกต่างตรงที่ ELB/ELCB จะมีปุ่มสำหรับกด Test อยู่ตรงกลาง     ความสามารถของ ELB / ELCB คือสามารถป้องกันไฟดูด-ไฟรั่ว และไฟฟ้าลัดวงจร แต่จะไม่สามารถปลดวงจรแบบอัตโนมัติได้ในกรณีที่ใช้กระแสไฟฟ้าเกินพิกัด Over Load การที่ ELB / ELCB มีกระแสไหลผ่านเกินพิกัดที่ ELB / ELCB จะรับไหวเป็นเวลานาน อาจทำให้ ELB / ELCB ได้รับความเสียหาย จึงจำเป็นต้องใช้ร่วมกับฟิวส์หรือเซอร์กิตเบรกเกอร์แบบธรรมดาเพื่อป้องกันการใช้กระแสเกินพิกัด ELB / ELCB จะเหมาะกับการนำไปใช้ควบคุมเฉพาะตัวเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีความเสี่ยง เช่น เครื่องทำน้ำอุ่น ,เครื่องซักผ้า เป็นต้น


                ยังคงมีบางคนที่อาจจะยังเข้าใจผิด...ในเรื่องขนาดของปริมาณการตรวจจับกระแสไฟรั่ว คนส่วนหนึ่งยังคงมีความเชื่อว่าขนาดค่าตรวจจับกระแสไฟรั่ว หรือค่าความไว(Sensitive) 30 mA.เป็นค่าที่มากเกินไป จนเป็นอันตราย  แต่ในความเป็นจริงแล้ว ขนาดของค่าตรวจจับกระแสไฟรั่ว 30 mA.ไม่ได้เป็นค่าที่มากไป จัดเป็นค่ามาตรฐานที่เหมาะสมในการใช้ป้องกันอันตรายในสภาวะการใช้งานแบบทั่วไป ซึ่งค่าที่ระดับ 30mA. เป็นค่าที่มีความเสถียรต่อสภาพแวดล้อมสูง แต่ก็ยังอยู่ในระดับการป้องกันอันตรายที่ปลอดภัยอยู่ ค่าที่ระดับนี้จะไม่มีความไว(Sensitive)มากเกินไปในการใช้งาน เนื่องจากบ้านเรา(ประเทศไทย)อากาศร้อนชื้น ในช่วงที่ฝนตกชุก ความชื้นในอากาศจะมาก เป็นผลให้เครื่องตัดไฟที่มีค่าตรวจจับไฟรั่วต่ำๆ เช่น 5 หรือ10 mA.มีโอกาสสูงที่จะทริปตัดวงจรออกโดยไม่มีสาเหตุอยู่บ่อยๆ(ไม่มีใครโดนไฟดูดแต่เครื่องก็ตัดเอง)  แต่ถ้าเป็นระดับค่าตรวจจับกระแสไฟรั่วที่ 30 mA.แทบจะไม่เกิดปัญหาในเรื่องทริปตัดวงจรเองเมื่ออากาศชื้น ขนาดค่าตรวจจับกระแสไฟรั่ว 30 mA.ยังได้รับการรับรองและยอมรับในฝั่งอเมริกาและยุโรป

                สรุป...ค่าความไว(Sensitive)ที่ใช้เพื่อป้องกันมนุษย์ได้รับอันตรายจากการถูกไฟดูด ในระดับที่ปลอดภัยจะอยู่ที่ไม่เกิน 30 mA.เวลาในการทริปปลดวงจร ตามมาตรฐานกำหนดให้ต้องไม่เกินกว่า 0.04 วินาที

                ในส่วนเครื่องตัดไฟอีกประเภท ที่ป้องกันไฟรั่วลงดิน สำหรับป้องกันอุปกรณ์ จะมีค่าตรวจจับกระแสไฟรั่วมาก อยู่ที่ประมาณ 100 mA. , 200 mA. , 300 mA. และ500 mA.จึงไม่สมควรที่จะนำมาใช้ในการป้องกันอันตรายจากไฟดูดที่จะเกิดกับคน เครื่องประเภทนี้เหมาะที่จะใช้ป้องกันการรั่วลงดินอุปกรณ์ไฟฟ้าเพื่อลดการสูญเสียพลังงานโดยเปล่าประโยชน์และป้องกันความเสียหายของอุปกรณ์ไฟฟ้าหรืออัคคีภัย หรือนำมาใช้ในกรณีที่ต้องการให้เครื่องตัดไฟรั่วสามารถป้องกันทุกวงจรที่เมนสวิตช์ โดยจะใช้ได้เฉพาะระบบไฟฟ้าที่มีสายดิน เป็นมาตรการเสริมป้องกันอัคคีภัย และไฟฟ้าดูด ให้ใช้ขนาดตั้งแต่ 100mA เป็นต้นไป โดยอาจจะเลือกใช้เป็นขนาด 100 mA , 300 mAหรือ 500 mAทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปริมาณของกระแสไฟรั่วตามธรรมชาติ ซึ่งการเลือกใช้จะต้องพิจารณาไปเป็นกรณีเฉพาะ


                หลักการทำงานเบื้องต้นของเครื่องตัดไฟ

                หลายคนอาจสงสัย ในหลักการทำงานของเครื่องตัดไฟ...มันรู้ได้อย่างไรว่ามีไฟรั่วลงดินหรือมีคนโดนไฟดูด ?

                การที่เครื่องตัดไฟสามารถรู้ได้ว่ามีกระแสไฟฟ้ารั่วลงดินหรือมีคนโดนไฟดูดนั้น ระบบภายในไม่ได้มีความอัจฉริยะล้ำยุคแต่อย่างใด มีหลักการทำงานเบื้องต้นที่ง่ายๆไม่ซับซ้อน เครื่องตัดไฟมีหน้าที่หลักๆ คือ เปรียบเทียบกระแสไฟฟ้าที่ไหลผ่านสาย Line กับสาย Neutral เงื่อนไขข้องมันคือ กระแสไฟฟ้าที่ไหลออกไปเท่าไหร่ ก็จะต้องไหลกลับมาเท่านั้น ภายในเครื่องตัดไฟ จะมีขดลวด Search Coil ซึ่งเป็นตัวที่ทำหน้าที่ตรวจวัดปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ไหลออกไป และกลับเข้ามา สาย Line กับสาย Neutral จะถูกสอดผ่านเข้าไปในวงขดลวด Search Coil

                ในสภาวะปกติ...กระแสไฟฟ้าที่ไหลออกไปเมื่อผ่านโหลดเครื่องใช้ไฟฟ้าแล้ว ก็จะไหลกลับเข้ามาในปริมาณที่เท่ากัน สาย Line กับสาย Neutral จะมีกระแสไหลออกไปและกลับมาเท่ากัน เมื่อสาย Line กับสาย Neutral มีกระแสไหลออกไปและกลับมาเท่ากัน ก็จะเกิดการหักล้างของเส้นแรงแม่เหล็กจนหมดสิ้น ทำให้ขดลวด Search Coil ในเครื่องตัดไฟตรวจไม่พบความผิดปกติ

                กรณีนี้ ถ้าใครที่เคยใช้แคลมป์มิเตอร์คล้องสายไฟเพื่อวัดกระแสไฟฟ้า...ก็คงจะนึกออก ถ้าคล้องแคลมป์มิเตอร์ควบระหว่างสาย Line กับสาย Neutral พร้อมกัน แม้จะเป็นขณะที่มีโหลด แต่หน้าปัทม์มิเตอร์จะไม่แสดงค่าใดๆ ขึ้นมา เนื่องจากเส้นแรงแม่เหล็กหักล้างกันระหว่างสาย Line กับสาย Neutral แต่ถ้าคลองมิเตอร์กับสายไฟเส้นใดเส้นหนึ่ง(ขณะมีโหลด) จะทำให้เกิดการเหนี่ยวนำของเส้นแรงแม่เหล็ก จนเกิดเป็นสัญญาณไฟฟ้าขึ้นมา หน้าปัทม์มิเตอร์ก็จะแสดงค่ากระแสไฟฟ้าขึ้นมาให้เห็น

 

                เมื่อเกิดกรณีไฟรั่วลงดิน หรือไฟดูดคน จะมีกระแสไฟฟ้าบางส่วนหายออกไปจากระบบ ทำให้กระแสไฟฟ้าที่ไหลกลับเข้าไปไม่เท่ากับตอนที่ออกมา ผลต่างของกระแสไฟฟ้าระหว่างสาย Line กับสาย Neutral ที่ไหลไม่เท่ากัน เส้นแรงแม่เหล็กที่หักล้างกันไม่หมดก็จะเกิดการเหนี่ยวนำขึ้นที่ขดลวด Search Coil หากปริมาณกระแสไฟฟ้าที่รั่วออกไปจากระบบ มีถึงระดับที่กำหนด สัญญาณไฟฟ้าที่เกิดจากการเหนี่ยวนำในขดลวด Search Coil จะเดินทางเข้าสู่ส่วนที่ทำหน้าที่ขยายสัญญาณ เพื่อเข้าไปสั่งการขดลวด Trip Coil เมื่อขดลวด Trip Coil ได้รับสัญญาณที่เพียงพอ ก็จะเกิดอำนาจแม่เหล็ก ส่งผลให้กลไกลภายใน ทริปตัวเมนเบรกเกอร์เพื่อตัดวงจรไฟฟ้า

                ส่วนประกอบอื่นๆของเครื่องตัดไฟ

                ปุ่มทดสอบ Test เป็นปุ่มที่ใช้กดเพื่อจำลองเหตุการณ์ไฟรั่ว เมื่อกดปุ่มดังกล่าวจะเป็นการต่อวงจรไฟฟ้าให้กับวงจรทดสอบ ซึ่งมีโหลดในวงจรทดสอบเป็นตัวต้านทาน โดยวงจรทดสอบจะต่อด้านหนึ่งเข้ากับขั้วหนึ่งตรงด้านที่ออกมาจากขดลวด Search Coil แล้วสายอีกฝั่งของวงจรทดสอบก็จะต่อเข้ากับอีกขั้วตรงด้านที่จะเข้าขดลวด Search Coil

                เมื่อกดปุ่มทดสอบ Test จึงเหมือนเป็นการจำลองสถานการณ์ที่มีไฟรั่วออกจากระบบ เพราะกระแสที่ไหลผ่านขดลวด Search Coil มีค่าไม่เท่ากัน

                 สวิทช์ปรับค่าความไว(Sensitive) เป็นสวิทช์ที่มีเฉพาะในเครื่องตัดไฟแบบดั้งเดิมเท่านั้น จะหาสวิทช์แบบนี้ในเครื่องป้องกันไฟดูด-ไฟรั่ว แบบเบรกเกอร์RCBO หรือ ELB/ELCB คงไม่มี

อันที่จริงสวิทช์นี้ก็ไม่ได้มีความจำเป็นอะไรมากมาย ในเครื่องตัดไฟรุ่นปัจจุบัน สวิทช์ที่ใช้ปรับค่าความไว จะใช้เป็น Selector Switch ที่ให้ปรับเลือกลงตำแหน่งที่กำหนดไว้เป็นจุดๆ แต่ละจุดก็จะไปต่อกับวงจรที่กำหนดค่าความไวเอาไว้ต่างจากเครื่องตัดไฟสมัยก่อน ที่จะใช้สวิชท์แบบที่มีลักษณะคล้ายกับตัวต้านทานปรับค่าได้

                คำเตือน...สำหรับเครื่องตัดไฟที่สามารถปรับให้ต่อตรง Direct เมื่อเครื่องตัดไฟทริปแล้วยังหาสาเหตุไม่พบ หากไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน ที่จะต้องใช้ไฟฟ้า อย่าปรับเลือก Direct เด็ดขาด! ให้หาสาเหตุให้เจอก่อน หรือไม่ก็รีบตามช่างไฟฟ้ามาตรวจสอบ ถ้าไม่จำเป็นสุดๆอย่าใช้โหมด Direct เพราะผู้ใช้อาจจะหลงลืมปรับกลับมายังตำแหน่งป้องกัน ผู้ใช้ส่วนใหญ่ที่มีการติดตั้งเครื่องตัดไฟมักจะประมาทในการใช้ไฟฟ้า การปรับเลือกเป็น Direct แล้วไม่ปรับกลับคืนสู่โหมดป้องกัน หากเหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้นโดนไฟดูด แต่เมื่อเครื่องยังเป็น Direct อยู่ ก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้ เรียกได้ว่า..."ตายแล้วก็ยังไม่ตัด"

                แต่เครื่องตัดไฟแบบดั้งเดิม รุ่นที่ผลิตออกมาในภายหลัง ผู้ผลิตได้เอาโหมดการทำงานแบบต่อตรง Direct ออกไปแล้ว ทำให้เครื่องตัดไฟมีความปลอดภัยเพิ่มขึ้น


                กรณีใดบ้างที่เครื่องตัดไฟสามารถป้องกันได้ และป้องกันไม่ได้

                กรณีที่เครื่องป้องกันได้(ทริป)

                1. การทริปหรือตัดวงจร ในกรณีที่เกิดจากกระแสไฟฟ้าดูดหรือกระแสไฟฟ้ารั่วลงดินโดยการผ่านร่างกายคนหรือผ่านตัวโครงอุปกรณ์ ในปริมาณที่เครื่องสามารถตรวจจับได้ซึ่งอิงจากค่าความไว หรือค่า Sensitive ซึ่งในเครื่องบางรุ่นที่สามารถปรับความไวของกระแสได้ให้ตังค่าความไวที่ค่าเริ่มต้นที่น้อยที่สุด หากการใช้งานไปเรื่อยๆมีการทริปเองบ่อยครั้งควรปรับเพิ่มขึ้นมาที่ละขั้น หากปรับมาจนถึงค่าสูงสุด(25 หรือ 30mA.)ใช้งานไปเรื่อยๆยังมีการทริปควรเรียกช่างมาตรวจตัวเครื่องและตรวจสอบระบบไฟฟ้าของท่าน

                2. การทริปหรือตัดวงจรในกรณีใช้กระแสไฟฟ้าเกินกว่าขนาดพิกัดของเครื่อง หรือการใช้งานจนเกิด Over Load กรณีนี้เป็นคุณสมบัติการป้องกันที่มีเฉพาะในเบรกเกอร์ชนิด RCBO เท่านั้น ส่วนเบรกเกอร์ ELB / ELCB จะไม่สามารถปลดวงจรเมื่อมีการใช้งานแบบ Over Load ได้ ซึ่งหากใช้งานจนเกิด Over Load เป็นระยะเวลานานๆ อาจทำให้ตัว ELB / ELCB ได้รับความเสียหายได้

                3. การทริปหรือตัดวงจร ในกรณีที่เกิดไฟฟ้าลัดวงจร Short Circuit การลัดวงจรในที่นี้ ถ้าเป็นกรณีที่อาจพบได้ในบ้านพักอาศัยทั่วไป คือการที่ตัวนำไฟฟ้าที่มีศักย์ทางไฟฟ้า 220 (สาย Line) มาเจอกับตัวนำไฟฟ้าที่มีศักย์เป็นศูนย์ (สาย Neutral) โดยไม่ผ่านความต้านทานหรือโหลดทางไฟฟ้าใดๆทั้งสิ้น เมื่อทั้งสองมาเจอกันโดยตรงก็จะเกิดสภาวะลัดวงจร หากไม่มีการปลดวงจรออกเมื่อมีการลัดวงจรเกิดขึ้น จะเกิดความร้อนสูงจนเป็นสาเหตุของเพลิงไหม้ได้ การลัดวงจรในระบบไฟฟ้าเฟสเดียว นอกจากจะเกิดได้ระหว่าง Line - Neutral แล้ว ยังสามารถเกิดขึ้นได้ระหว่าง Line - Ground หรือสายดิน ได้อีกด้วย แต่ความรุนแรงจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับความต้านทานของระบบสายดิน ส่วนการลัดวงจรในระบบ 3 เฟส เกิดขึ้นได้ทั้งระหว่าง Line - Ground หรือ Line - Neutral รวมทั้ง Line - Line ที่ต่างเฟสกัน ความรุนแรงก็จะมากขึ้นตามลำดับ


                กรณีที่เครื่องป้องกันไม่ได้(ไม่ทริป)

                1. กรณีที่คนหรือสัตว์เลี้ยงไปสัมผัสกับสายไฟเส้น Line และ Neutral โดยตรง ซึ่งกรณีนี้จะเป็นอันตรายถึงชีวิต กว่า 98% ของเครื่องตัดไฟที่ใช้กันทั่วไปจะไม่ทำงาน เนื่องจากตัวเครื่องตรวจจับไม่ได้ เพราะว่าร่างกายของเราและสัตว์เลี้ยงมีความต้านทานอยู่ การไปสัมผัสกับสายไฟเส้น L และ N โดยตรง เปรียบเสมือนเป็นการครบวงจรตามปกติ ร่างกายของเราจะกลายสถานะเป็นโหลดเหมือนเครื่องใช้ไฟฟ้า กระแสไฟจะไหลผ่านร่างกาย อาจทำให้เสียชีวิตได้

                2. กรณีที่ประมาทหรือเผลอลืม...เปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าทิ้งไว้ กรณีนี้เมื่อเกิดเรื่องขึ้นแล้ว หากมองย้อนกลับไป ยังพบว่ามีหลายๆคนที่มีความเชื่อที่ผิด ไว้วางใจเชื่อมันในเครื่องตัดไฟมากไป จนทำให้ประมาทในการใช้ไฟฟ้า กรณีที่ตั้งใจก็เช่นเปิดพัดลมให้สัตว์เลี้ยงทิ้งไว้ในขณะที่ไม่มีคนอยู่ ส่วนกรณีที่ไม่ตั้งใจก็อย่างการเผลอลืมเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าทิ้งไว้นานๆขณะที่ไม่มีคนอยู่ จนเครื่องใช้ไฟฟ้าอันนั้นเกิดร้อนและติดไฟขึ้นมา กรณีนี้เครื่องตัดไฟจะยังไม่ทริปเพื่อตัดไฟแบบทันทีทันใด จะต้องรอให้ไฟไหม้จนส่วนที่เป็นฉนวนเสียหาย แล้วเกิดการลัดวงจรก่อนเครื่องตัดไฟจึงจะทริปเพื่อตัดไฟ แต่เมื่อถึงตอนนั้นแล้วไฟอาจลุกลามไปแล้วก็ได้

                3. ใช้เครื่องตัดไฟที่มีขนาดไม่สัมพันธ์กับขนาดมิเตอร์ไฟฟ้า การนำเครื่องตัดไฟที่มีพิกัดกระแสใหญ่เกินกว่าขนาดมิเตอร์มาใช้เป็นเมนสวิทช์ของระบบไฟฟ้าในบ้าน เมื่อเกิดกรณีใช้กระแสไฟฟ้าเกิน Over Load เกินกว่าค่าสูงสุดที่มิเตอร์จะรองรับได้ เครื่องตัดไฟจะไม่ทริปจนกว่ากระแสที่ไหลผ่านจะเกินพิกัดของเครื่องตัดไฟ แต่ขณะนั้นมิเตอร์อาจรับไม่ไหวแล้ว สิ่งที่จะตามมาคือความเสียหายที่จะเกิดกับสายเมนและมิเตอร์วัดหน่วยไฟฟ้า

                หมายเหตุ ที่ถูกต้องไม่ควรนำเครื่องตัดไฟมาใช้เป็นเมนสวิทช์ของระบบไฟฟ้า ควรต่อเครื่องตัดไฟถัดจากเมนเซอร์กิตเบรคเกอร์ หรือสะพานไฟ

                4. ปรับตั้งตัวตรวจจับกระแสไปที่ตำแหน่ง Direct ซึ่งเป็นการต่อใช้ไฟฟ้าโดยตรงไม่ผ่านวงจรตรวจจับกระแสไฟรั่ว เปรียบเหมือนการจ่ายไฟออกจากเซอร์กิตเบรกเกอร์แบบธรรมดา หากไม่จำเป็นหรือฉุกเฉินจริงๆ อย่าใช้งานในโหมด Direct แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้จริงๆ ก็ต้องระมัดระวังในการใช้ไฟฟ้าให้มากๆ อย่าประมาท เพราะอย่าลืมว่าถ้าไฟรัว แล้วโดนไฟดูด เครื่องไม่จะตัด

                5. ต่อสายไฟเข้าเครื่องตัดไฟผิดเส้น สินค้าในกลุ่มของอุปกรณ์ป้องกันไฟดูด-ไฟรั่ว ปัจจุบันแทบจะไม่ค่อยมีปัญหาและข้อบกพร่องที่จะเกิดขึ้นเมื่อมีการต่อสายสลับด้านไฟเข้า ระหว่าง L - N ผลิตภัณฑ์ที่ออกมาในปัจจุบันบางตัวก็ไม่มีการกำหนดขั้วเอาไว้ ทำให้หลายคนอาจจะสับสนไปบ้าง ซึ่งอันที่จริงแล้วหากผู้ผลิตไม่ระบุมาก็หมายถึงต่อเข้าด้านไหนขั้วไหนก็ได้ ตามแต่จะเห็นสมควร แต่...ในอดีตเครื่องตัดไฟบางรุ่นที่ภายในมีระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาเกี่ยวข้อง อาจจะไม่ทำงานหรือทำงานผิดพลาด หากใส่สายไฟเข้าผิดเส้น

                6. การติดตั้งเครื่องตัดไฟก่อนเข้าเมนสวิทช์ของบ้านที่มีระบบสายดิน กรณีนี้หากเกิดไฟรั่วแล้วเครื่องอาจจะไม่ตัดกระแส เพราะปริมาณไปที่เข้าและออกจากเครื่องเป็นปกติ การติดตั้งต้องติดตั้งเครื่องตัดไฟ ถัดจากเมนสวิชต์หรืออุปกรณ์ปลดวงจรหลักของบ้านที่มีระบบสายดิน เท่านั้น


                การติดตั้งเครื่องตัดไฟรั่วจะอยู่ก่อนเมนเซอร์กิตเบรคเกอร์ เป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง